โรคไข้หัดแมว (Feline distemper) โรคลำไส้อักเสบในแมว (Feline Parvovirus Enteritis)

โรคไข้หัดแมว (Feline distemper) โรคลำไส้อักเสบในแมว (Feline Parvovirus Enteritis)
“โรคไข้หัดแมว” หลาย คนคงเคยได้ยินคุณหมอพูดถึงเจ้าโรคนี้มาบ้างแล้ว เรามาทำความรู้จักโรคไข้หัดแมวกันหน่อยเพื่อเป็นความรู้รอบตัว โรคไข้หัดแมวเป็นโรคที่เกิดจากเขื้อไวรัสกลุ่มพาร์โวไวรัส (Feline parvovirus)

โรคไข้หัดแมวมีผลต่อระบบทางเดินอาหารของแมว (แต่ไม่มีผลต่อระบบทางเดินหายใจเหมือนโรคไข้หวัดแมว) มีอารเหมือนโรคไข้หัดสุนัขหรือโรคดิสเท็มเปอร์ของสุนัข จึงมีคนเรียกชื่อต่างๆมากมาย เช่น โรคไข้หัดแมว (Feline distemper) โรคลำไส้อักเสบในแมว (Feline Parvovirus Enteritis) เป็นต้น

มีรายงานการพบโรคนี้นานแล้ว และสามารถพบโรคนี้ได้ในสัตว์ตระกูลแมวทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น เสือ สิงโต แมวป่า นอกจากนี้ยังพบได้ในสัตว์ตระกูลอื่นๆอีก เช่น สกังค์, เฟอร์เร็ท, มิงค์, แรคคูน

การติดโรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

แมวสามารถติดโรคไข้หัดแมวได้จากการติดต่อโดยตรงจากแมวป่วย โดยเฉพาะแมวที่เลี้ยงรวมกันเป็นฝูงหรือติดต่อจากการปนเปื้อนสิ่งขับถ่ายและ สิ่งคัดหลั่งของแมวที่เป็นโรคผ่านทางภาชนะใส่อาหาร น้ำ เสื้อผ้าและรองเท้าของผู้เลี้ยง

อาการของแมวที่เป็นไข้หัดแมว

โรคไข้หัดแมวมีระยะฟักตัวประมาณ 2-7 วัน ในแมวที่อายุน้อยส่วนใหญ่ตายอย่างรวดเร็ว โดยมีอัตราการตายอยู่ระหว่าง 25-90%

อาการที่พบ คือไข้สูงเฉียบพลัน ซึม เบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเสีย ร่างกายขาดน้ำ เมื่อตรวจเลือดพบว่าเม็ดเลือดขาวมีจำนวนต่ำมาก จึงมีชื่อเรียกโรคนี้ว่า “Feline Panleukopenia” เมื่อคลำบริเวณช่องท้องพบอาการเจ็บท้อง บางครั้งอาจพบลำไส้หนาตัวขึ้นเป็นลำ ภายในมีแก๊สและของเหลว

ในแมวโต เมื่อเกิดการติดเชื้อระยะหนึ่งแล้ว ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นเองได้ อาการของแมวก็จะดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามแมวที่หายจากโรคสามารถแพร่เชื้อไวรัสออกมากับอุจจาระได้หลายสัปดาห์ ในแมวที่ตั้งท้องอาจแท้งลูกหรือลูกตายภายหลังคลอดได้ ส่วนในแมวที่อายุน้อยอาจก่ออาการรุนแรงจนถึงตายได้

เมื่อแมวของท่านเป็นโรคไข้หัดแมวควรทำอย่างไร

ควรพาไปพบสัตวแพทย์ทันที เพราะเป็นโรคติดต่อร้ายแรง โดยเฉพาะแมวที่ไม่กินอาหาร อาเจียน ท้องเสีย จนร่างกายอ่อนเพลีย สภาพทรุดโทรมถึงขั้นเข้าสู่สภาวะช็อคได้

แนวทางการรักษาโรค คือ การรักษาตามอาการเพื่อพยุงชีวิตให้สัตว์สามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นเองได้ เช่น การให้สารน้ำ (Fluid therapy) และฉีดยาอื่นๆร่วมด้วย โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนจากเชื้อแบคทีเรีย การฉีดยาระงับอาเจียน พร้อมทั้งให้วิตามินและแร่ธาตุอื่นๆร่วมด้วย ขระเดียวกีนควรลดการทำงานของลำไส้ด้วยการงดน้ำและอาหาร

ควรระวังแมวที่ยังไม่เป็นโรคไข้หัดอย่างไร

ควรรีบแยกแมวป่วยออกจากแมวปกติตัวอื่นทันที เนื่องจากโรคนี้สามารถเป็นได้กับแมวทุกอายุ ขณะเดียวกันควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคที่อาจแพร่ออกมากับอุจจาระ ปัสสาวะ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น โซเดียมไฮโปคลอไรด์

การป้องกันแมวที่คุณรักไม่ให้เป็นโรคไข้หัดแมว

การฉีดวัคซีนเป็นแนวทางที่ใช้ในการป้องกันโรคที่ดีที่สุด ซึ่งในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้หัดแมวหลายชนิด และยังเป็นวัคซีนรวมที่สามารถป้องกันได้ทั้งโรคไข้หัดแมว และโรคไข้หวัดแมวไปพร้อมๆกัน ซึ่งสามารถรับการฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลสัตว์และคลีนิคสัตวแพทย์ทั่วไป

ส่วนสัตว์ป่าตระกูลแมวและสัตว์ตระกูลอื่นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโดยใช้โปรแกรมเดียวกับแมวเลี้ยงดังนี้

เข็มที่ 1 ฉีดเมื่อลูกแมวอายุ 2 เดือน

เข็มที่ 2 ฉีดเมื่อลูกแมวอายุ 3 เดือน

และควรฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี

โรคไข้หัดแมวนี้ สามารถตติดต่อถึงคนได้หรือไม่  โรคไข้หัดแมวนี้ เป็นโรคเฉพาะสัตว์ในตระกูลแมวเท่านั้น ไม่มีรายงานติดต่อถึงคน

สุดท้ายนี้ หวังว่าท่านผู้อ่านซึ่งเป็นคนรักแมวคงตระหนักถึงความร้ายกาจของโรคไข้หัดแมว และคงไม่อยากให้โรคนี้ไปเยือนบ้านท่าน ซึ่งมีผลทำให้แมว “ตายยกบ้าน” ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือ การฉีดวัคซีน
โรคหัดร้ายจะไม่มาเยือน ถ้าร่วมใจกันฉีดวัคซีนป้องกัน

โดย ผศ.น.สพ. จตุพร หนูสุด  ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิคสัตว์เลี้ยง  คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์




ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม